อาคารและเสนาสนะ ของ วัดบุพพาราม (จังหวัดเชียงใหม่)

เจดีย์

เจดีย์แบบพม่าตั้งอยู่บนฐานย่อเก็จ 2 ชั้น ลักษณะลวดลายและการย่อเป็นแบบพม่า รวมทั้งตัวองค์ระฆัง และส่วนปล้องไฉนด้วย และมีเจดีย์บริวารอยู่มุมฐาน 2 ชั้น ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เจดีย์สร้างเมื่อ จ.ศ. 872 (พ.ศ. 2053) ได้มีการบูรณะองค์เจดีย์โดยหลวงโยนวิจิตร (หม่อนตะก่า อุปโยคิน) ในปี จ.ศ. 1260 (พ.ศ. 2441) โดยเปลี่ยนรูปทรงเจดีย์ใหม่ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ขยายฐานให้กว้าง 38 ศอก ความสูง 45 ศอก มีฉัตรขนาดเล็กจำนวน 4 ฉัตร รวมทั้งมีต้นดอกไม้เงินดอกไม้ทอง อย่างละ 4 ต้น และมีฉัตรขนาดใหญ่ตรงยอดสูดขององค์เจดีย์ 1 ฉัตร และได้มีการบูรณะเจดีย์อีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2499 โดยพระพุทธิญาณ

วิหารใหญ่ศิลปกรรมล้านนา ประดับตกแต่งลวดลายปูนปั้นแบบพม่า ภายในประดิษฐานพระพุทธมหาปฏิมากร ศิลปกรรมล้านนาซึ่งหล่อด้วยทองแดงล้วนมีน้ำหนัก 1 โกฏิ และสนธิ (ต่อ) 8 แห่ง และมีพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนขนาบซ้ายขวาอีก 2 รูป โดยหล่อด้วยทองสำริดทั้งคู่ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติและพระเวสสันดรชาดกซี่งเขียนด้วยสีฝุ่น

วิหารหลังเล็กศิลปกรรมล้านนา เจ้าหลวงช้างเผือกธรรมลังกาโปรดให้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2362 ภายในประดิษฐานพระพุทธไชยลาภประสิทธิโชค (พระประธาน) ซึ่งก่อด้วยอิฐถือปูน หน้าตักกว้าง 7 ศอก สูง 9 ศอก ภายหลังเมื่อวิหารหลังเล็กได้รับการดัดแปลงแก้ไขในสมัยครูบาหลานหรือ ต่อมาเจ้าแม่ทิพผสม ณ เชียงใหม่ ได้ทำการบูรณะวิหารหลังเล็ก เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2445 ต่อมาเจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดองค์ปัจจุบันได้ทำการบูรณะซ่อมแซมในรูปเดิมและเสริมในบางส่วน คือ ปั้นมอม (สัตว์หิมพานต์) 2 ตัว ไว้ที่บันได รวมทั้งบานประตูใหญ่ของวิหารซึ่งปั้นปูนเป็นเทพนม

หอมณเฑียรธรรมเป็นมณฑปปราสาทจัตุรมุขทรงล้านนา 2 ชั้น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2523 ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระราชทานว่า พระพุทธบุพพาภิมงคล ภปร. และพระพุทธนเรศร์สักชัยไพรีพินาศ แกะด้วยไม้สัก ขนาดหน้าตักกว้าง 1 วาเศษ มีอายุประมาณ 400 ปี[3] ชั้นล่างของหอมณเฑียรธรรมจัดเป็นห้องสมุดศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนา